Insite bigbanner

ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมประจำเดือนกันยายน 2567

UPDATE 21 ก.ย. 2567

สำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สินกว่า 12,800 รายการ 70 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 4,700 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 48 รายคดี

*****

วันที่ 20 กันยายน 2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วย นายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการ ป.ป.ท. นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย โฆษกประจำสำนักงาน ปปง.  แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้

1. ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 48 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 12,300 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 4,522 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้

1.1 ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้กว่า 10,900 รายการ มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ดังนี้

                   - รายคดี นายภีมพงษ์ฯ กับพวก ซึ่งสืบเนื่องจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วยกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ปปง. สืบสวนดำเนินคดีจนสามรถจับกุมนายภีมพงษ์ฯ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสำรวจทรัพย์สินฯ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินของนายภีมพงษ์ฯ กับพวก ซึ่งกรณีดังกล่าวมีพฤติการณ์ใช้กลอุบายหลอกลวงว่าพิกัดและแนวหมุดที่ดินที่จะสร้างถนนยื่นล้ำเข้ามาในพื้นที่ของสนามกอล์ฟ โดยนายภีมพงษ์ฯ อ้างว่าตนสามารถดำเนินการขยับแนวให้สนามกอล์ฟเสียพื้นที่น้อยที่สุด แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขแบบ   ของโครงการฯ และเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย จากการตรวจสอบพบว่านายภีมพงษ์ฯ ได้นำทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดไปจำนำที่โรงรับจำนำในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 77 รายการ (เช่น ทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง พระเครื่อง ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 26 ล้านบาท (คำสั่ง .170/2567)

                    - รายคดี นายประมวลฯ กับพวก ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีพฤติการณ์เรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งบริษัทผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมและตรวจค้นพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดเงินสดไว้แล้วเกือบ 7 ล้านบาท (คำสั่ง ย.241/2566) ในการนี้ ตรวจพบทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวนกว่า 10,800 รายการ (เป็นทรัพย์สินประเภทพระเครื่อง) รวมมูลค่าประมาณ 14 ล้านบาท (คำสั่ง ย.173/2567)

1.2 ความผิดเกี่ยวกับการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 578 รายการ มูลค่ากว่า 1,042 ล้านบาท ดังนี้

                - รายคดี นายสง่าฯ กับพวก (เครือข่ายโกฟุก) ซึ่งสืบเนื่องจากการรายงานข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบข้อมูลการชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไป ทายผลพนันออนไลน์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเว็บพนันที่ใช้ชื่อต่างๆ เช่น https://huaynakaraj.com/, https://100larn.com โดยเปิดให้บริการเล่นเกมเสือมังกร, เกมสล็อตทุกรูปแบบ, ไก่ชน, มวย, หวยรัฐบาลไทย เป็นต้น โดยให้ผู้เข้าเล่นพนันโอนเงินเข้ามา ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่เครือข่ายผู้กระทำความผิดกำหนดไว้เป็นบัญชีรับโอนเงินพนันหรือบัญชีรับแทงหน้าเว็บไซต์ ซึ่งกลุ่มขบวนการจะโอนเงินต่อไปยัง บัญชีแถวที่สอง บัญชีแถวที่สาม บัญชีแถวที่สี่ และบัญชีแถวที่ห้า เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน จากการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 372 รายการ (เช่น เงินสด เครื่องประดับ ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 963 ล้านบาท (คำสั่ง .210/2567)

                   - รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ เครือข่ายเว็บไซต์ www.pg168.com ตรวจสอบพบว่ามีการโอนและรับโอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 146 รายการ (เช่น ที่ดิน เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 49 ล้านบาท (คำสั่ง .192/2567)

                   - รายคดี นายกฤตภพฯ กับพวก เครือข่ายเว็บไซต์ www.i99bet.net ซึ่งลักลอบจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอล โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เป็นที่ทำการเพื่อติดต่อกับลูกค้าผู้เข้าร่วมเล่นการพนันในประเทศไทย ตรวจสอบพบว่ามีการโอนและรับโอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 60 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท (คำสั่ง .169/2567)

                  1.3 ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 107 รายการ มูลค่าประมาณ 3,165 ล้านบาท ดังนี้

                    - รายคดี นายอภิมุขฯ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์สืบเนื่องจากกรณีการทำคำสั่งซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE อันมีพฤติการณ์เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เข้าองค์ประกอบความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) ซึ่งสำนักงาน ปปง. ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินไปแล้ว 36 รายการ มูลค่าทรัพย์สินเกือบ 5,400 ล้านบาท (ตามคำสั่ง ย.195/2565 และ ย.196/2565) ในการนี้ มีทรัพย์สินที่ตรวจพบเพิ่มเติม คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 19 รายการ (หุ้น และหลักทรัพย์) มูลค่ากว่า 168 ล้านบาท (คำสั่ง .172/2567)

                      ทั้งนี้ กรณี นายอภิมุขฯ กับพวก มีการแยกสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินในความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้น เนื่องจากการตรวจสอบของสำนักงาน ก.ล.ต. และการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (ปั่นหุ้น) อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (20) โดยพบข้อมูลว่ามีทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากพฤติการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 25 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่ากว่า 230 ล้านบาท (คำสั่ง .187/2567)

                    - รายคดี นายสฤษฏ์ฯ กับพวก กรณีนี้ สำนักงาน ปปง. สืบสวนจากหนังสือร้องเรียนของประชาชน ซึ่งขอให้ช่วยดำเนินการคืนเงินที่ถูกอายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมแล้วพบว่า เป็นกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีพฤติการณ์ชักชวนให้โหลดแอพพลิเคชั่น เพื่อเข้าลงทุนเทรดเหรียญดิจิทัล ซึ่งดำเนินการเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่หน้าที่เปิดบัญชีธนาคารไว้เพื่อรองรับการโอนเงินของผู้เสียหาย การสุ่มทักเฟซบุ๊กหาผู้เสียหาย หน้าที่พูดคุยชักชวนแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของผู้ต้องหา และยังมีการโอนเงินดังกล่าวต่อไปยังบัญชีของผู้ต้องหาอีกหลายบัญชี ประกอบกับตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีการโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดผ่านบัญชีเงินฝากหลายบัญชี มีการถอนเงินสด และนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการ มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนไทยและต่างชาติ ในการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 52 รายการ (เช่น ที่ดิน ห้องชุด และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 2,554 ล้านบาท (คำสั่ง .193/2567)

                    - รายคดี นายฉี ซู (MR.QU XI หรือ MR.XU QI) กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดฐานฟอกเงิน กรณีกลุ่มจีนเทาร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนและโอนเงินไปลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 133 รายการ มูลค่าประมาณ 596 ล้านบาท (ย.240/2566) และจากการสืบสวนขยายผลและตรวจสอบความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของขบวนการกระทำความผิด ตรวจพบความเชื่อมโยงทางการเงิน และพยานหลักฐานอันเชื่อได้ว่ามีทรัพย์สินที่ได้มาจากการรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 11 รายการ (รถยนต์ ชุดสงวนเลขทะเบียน ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 213 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 174/2567)

                        ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) ในหัวข้อการตรวจสอบข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สิน

2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 21 รายคดี ทรัพย์สิน 405 รายการ มูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนัน ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้

                        คดีความผิดเกี่ยวกับการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) โดยมีทั้งส่วนที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นศาล รวมทรัพย์สินที่ดำเนินการ 155 รายการ มูลค่าทรัพย์สินกว่า 60 ล้านบาท ดังนี้

                       - รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ www.wtf55.com โดยกรณีนี้มีทรัพย์สินส่วนที่ยึดและอายัดไว้แล้วกว่า 90 รายการ มูลค่าทรัพย์สินกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจาณาชั้นศาล (ย.50/2567) โดยในการนี้ มีการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (เพิ่มเติม) จำนวน 36 รายการ (เช่น เงินสด ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท (ย.120/2567)

                      - รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ kingpin88.com ซึ่งกรณีนี้มีทรัพย์สินส่วนที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว 19 รายการ มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท (ย.9/2566) โดยในการนี้ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (เพิ่มเติม) จำนวน 10 รายการ (นาฬิกา และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท (ย.119/2567)

3. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 1 รายคดี ทรัพย์สิน 27 รายการ มูลค่าประมาณ 116 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ คือ

                        - รายห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์โฆษณาข้อความชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุนในโครงการเกษตร เมื่อกดลิงก์ที่อยู่ในหน้าโฆษณา พบว่าเป็นลิงก์ที่เชื่อมต่อไปยังแอปพลิเคชันไลน์ ชักชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีไปแล้ว 3 ครั้ง ตามคำสั่งที่ ย. 204/2565 จำนวน 21 รายการ คำสั่งที่ ย. 45/2566 จำนวน 3 รายการ และคำสั่งที่ ย.75/2566 จำนวน 4 รายการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1,386 ราย ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.22/2566 ฟ.59/2566 และที่ ฟ.103/2566 ในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน 27 รายการ มูลค่าประมาณ 116 ล้านบาท (ย.133/2567)

                      ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th)

                    อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย

VISITOR

  • 7
  • 3
  • 5
  • 1
  • 8
  • 2
  • 7
  • 7
  • 2
  • 8
  • 5
  • 0
  • 8
-->
  • Facebook
  • Twitter
  • instagram
  • Youtube
  • TikTok