ENGLISH THAI ADVANCED SEARCH VISITOR 27833223 Visitors Counter Home บริการข้อมูลสำหรับประชาชนข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ปปง. แถลงผลการดำเนินการรายคดีสำคัญ ประจำเดือนมีนาคม 2567 UPDATE 14 Mar 2024 สำนักงาน ปปง. แถลงผลการดำเนินการรายคดีสำคัญ ประจำเดือนมีนาคม 2567 ********** วันที่ 14 มีนาคม 2567 นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. พร้อมด้วยคณะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ได้แก่ นายพีรธร วิมลโลหการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบ นางสาวสุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการ กองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน และนายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม และการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำเดือนมีนาคม 2567 โดยสรุปดังนี้ 1. มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมฯ ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้ 1.1 ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 30 รายคดี ทรัพย์สิน 467 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 1.1.1 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 68 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท โดยมีรายคดีสำคัญ เช่น - รายคดี นายฮุ้ยหวาง หวัง (MR.HUIHUANG WANG) กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับศุลกากร และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนขยายผลจากผู้กระทำความผิดจากคดีผับจินหลิง พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มยาเสพติดมีการนำเงินไปใช้ในการประกอบกิจการสถานบริการ และสนับสนุนกลุ่มเครือข่ายชาวจีนที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ตรวจสอบพบว่าให้บุคคลอื่นถือครองทรัพย์สินแทน (nominee) โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 3 รายการ (รถยนต์หรู) มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 49/2567) - รายคดี นายอานนท์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการเกี่ยวกับยาเสพติด และฟอกเงิน เป็นเครือข่ายใหญ่ มีผู้กระทำความผิดหลายราย แบ่งหน้าที่กันทำ โดยรับยาบ้าจาก สปป.ลาว ที่ลำเลียงเข้ามาในประเทศไทยแล้วกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ มีการสั่งการให้โอนเงินค่ายาบ้าไปยังบัญชีธนาคารต่าง ๆ ของบุคคลอื่นที่จัดหามา เพื่อปกปิดอำพรางเส้นทางการเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 65 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 62/2567) 1.1.2 ความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 218 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 129 ล้านบาท โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ เช่น - รายคดี กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ www.wtf555.com (นางสาวพิณณาณัฐฯ กับพวก) กรณีลักลอบจัดให้มีการเล่นการพนันผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต เปิดให้การเล่นพนันหลายรูปแบบ มีการรับสมัครสมาชิก ให้ฝากเงินเข้าระบบเพื่อขอรับรหัสเข้าไปเล่นพนันตามรูปแบบต่างๆ เช่น บาคาร่า และเสือมังกร โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 91 รายการ (เช่น รถยนต์หรู เงินสด และสินค้าแบรนด์เนม) มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 50/2567) - รายคดี นายภูมิพัฒน์ฯ กับพวก (อั้ม PSV) กรณีเว็บไซต์พนันออนไลน์ www.ufa24h.net และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีทรัพย์สินส่วนที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว รวมจำนวน 233 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 617 ล้านบาท (ตามคำสั่ง ย.72/2566 และ ย.91/2566) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.100/2566 และคดีหมายเลขดำที่ ฟ.22/2567 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ (ที่ดิน และเงินสด) มูลค่าประมาณ 76 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 68/2567) - รายคดี นายพงษ์ศิริฯ กับพวก กรณีเว็บไซต์ TS911, www.go-sbobet.com, www.ok-sbobet.com และเฟซบุ๊ก Freeball By.tan ซึ่งมีเครือข่ายเกี่ยวข้องกันโดยมีส่วนที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จำนวน 89 รายการ มูลค่าประมาณ 627 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 233/2566 และ ย. 234/2566) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.19/2567 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 120 รายการ (เช่น รถยนต์หรู เงินสด สินค้าแบรนด์เนม และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 38 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 74/2567) ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) ในหัวข้อการตรวจสอบข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สิน 1.2 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 18 รายคดี ทรัพย์สิน 822 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,092 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 1.2.1 รายคดี นายณัฐวัตรฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 255 รายการ (เช่น เงินสด พระเครื่อง เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์) มูลค่าประมาณ 41 ล้านบาท (ย.2/2567) 1.2.2 รายคดี นางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนัน กรณีหลอกลวงผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ โพสต์ข้อความที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวน ในอัตราที่ถูกกว่าปกติ แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวน หรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาล มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 224 รายการ (เช่น ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์และบัญชี เงินฝากธนาคาร) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,017 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 19/2567) 1.3 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 4 รายคดี ทรัพย์สิน 24 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 1.3.1 รายคดี บริษัท เออี โกลฟ จำกัด และว่าที่ร้อยตรี อัครเดชฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีประกาศโฆษณาจำหน่ายสินค้าถุงมือยางให้แก่ประชาชนทั่วไป เผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ และทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ใช้กลอุบายวิธีการหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งเงิน หรือทรัพย์สิน โฆษณาขายแต่ไม่มีสินค้าที่จะส่งมอบให้แก่ผู้เสียหาย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.176/2566 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 3 ราย โดยดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 8 รายการ มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท (คำสั่ง ย.164/2566) 1.3.2 รายคดี พันตำรวจเอก รุ่งโรจน์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีพันตำรวจเอก รุ่งโรจน์ฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าได้ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางกับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด โดยไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.17/2567 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหายโดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย (องค์การคลังสินค้า) โดยดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 8 รายการ มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท (คำสั่ง ย.223/2566) ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th) อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้ว 2. สรุปผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ในภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน กรณีการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน และการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิ) ในรอบ 6 เดือน (ข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึง เดือนมีนาคม 2567) ดังนี้ 2.1 มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน 128 คำสั่ง จำนวน 116 รายคดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 6,460 ล้านบาท 2.2 ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในทรัพย์สิน จำนวน 40 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 5,242 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา ในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง เดือนมีนาคม 2566 พบว่า มูลค่าในการดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน ลดลง ประมาณ 130 ล้านบาท และมูลค่าของทรัพย์สินที่ส่งสำนวนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เพิ่มขึ้น ประมาณ 4,555 ล้านบาท หมายเหตุ: ข้อมูลการดำเนินการ ในรอบ 6 เดือนก่อนหน้าที่นำมาเปรียบเทียบ ( เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ดังนี้ มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สิน 111 คำสั่ง จำนวน 89 รายคดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 6,590 ล้านบาท ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในทรัพย์สิน จำนวน 38 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ดำเนินการประมาณ 686 ล้านบาท 3. การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายคดี นางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีรายนางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันโดยเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) (9) (18) ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากพฤติการณ์ในคดีดังกล่าว คือ ถูกหลอกลวงจากการแอบอ้างว่ารับแลกเงินหยวนในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าสถาบันการเงิน และผู้เสียหายได้โอนเงินบาทไปแล้ว แต่ไม่ได้รับเงินหยวนกลับคืน ถูกหลอกจากการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แล้วโอนสายให้สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ/เจ้าหน้าที่ ปปง. เพื่อให้โอนเงินไปตรวจสอบและอ้างว่าจะคืนเงินให้ แต่สุดท้ายไม่ได้รับเงินกลับคืน สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิ ได้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 พร้อมแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีเอกสารประกอบดังนี้ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหาย สำเนาใบแจ้งความหรือเอกสารการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สำเนาเอกสารที่แสดงมูลค่าความเสียหายและการได้รับชดใช้คืน สำเนาสลิปการโอนเงินและสำเนารายการเคลื่อนไหวทางบัญชี (พร้อมระบุรายการที่โอน) สำเนาคำให้การที่ได้ให้ไว้ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน (ถ้ามี) สำเนาคำฟ้องต่อศาลทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา หรือสำเนาคำสั่งหรือคำพิพากษา (ถ้ามี) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) พร้อมติดอากรแสตมป์ 30 บาท (1 ฉบับ ต่อผู้เสียหาย 1 ราย) *** เอกสารประกอบต้องเซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกแผ่น *** สามารถยื่นคำร้องฯ ได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. โดยผู้เสียหายจะต้องนำแบบคำร้องฯ ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน และแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกฉบับมาพร้อมด้วย ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยจ่าหน้าซองมาที่ สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330และวงเล็บมุมซองด้านบนว่า “(ผู้เสียหายในคดีราย นางสาวธารารัตน์ สิงห์ทองวรรณ กับพวก) ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องฯ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th 4. มาตรการป้องกันตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 สำนักงาน ปปง. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.) และถือเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนภารกิจตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยเลขาธิการ ปปง. ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ พ.ร.ก. ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และยังดําเนินการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบ One Stop Service สําหรับประชาชนในการติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์อย่างบูรณาการและทันเวลา รวมถึงให้คําปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์สําหรับประชาชน ปัจจุบันผลการดําเนินการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 12 มีนาคม 2567)พิจารณากําหนดรายชื่อบุคคล กรณีบัญชีม้า ดังนี้ รหัส HR-03-1 จํานวน 5,672 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 53,136 หมายเลขบัญชี และรหัส HR-03-2 จํานวน 26,080 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 251,212 หมายเลขบัญชี นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีมติให้พิจารณากำหนด “รายชื่อเจ้าของบัญชีที่ถูกแจ้งเหตุว่า ได้มีการใช้บัญชี หรืออาจถูกใช้บัญชี หรือมีพฤติกรรมในการใช้บัญชี หรือทำธุรกรรมที่เข้าข่ายหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามประกาศสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการกับบัญชีม้าแถว 1 แล้ว จากนั้นธนาคารเจ้าของบัญชีของผู้เสียหายมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีม้าแถว 1 ที่ผู้เสียหายโอนเงินไปและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด ส่งให้ศูนย์ AOC 1441 โดยเร็ว เพื่อแจ้งให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตามประกาศสำนักงาน ปปง. ต่อไป อนึ่ง สำหรับผู้เปิดบัญชีม้าจะมีความผิดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับสูงสุด 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีม้า จะมีความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก. มาตรการฯ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย และในกรณีที่สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบการกระทำความผิดดังกล่าว จะดำเนินการกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปอีกด้ว 5. การขายทอดตลาดทรัพย์สิน ครั้งที่ 4/2567 ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 สำนักงาน ปปง. จะทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยวิธีการประมูลปากเปล่า ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทเครื่องประดับอัญมณี ทองคำ และพระเครื่อง จำนวน 74 รายการ โดยจะทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 ซึ่งกำหนดลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.30 น. เริ่มประมูลเวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณชั้น 1 สำนักงาน ปปง. โดยมีรายการทรัพย์สินที่น่าสนใจ เช่น - สมเด็จบางขุนพรหมเลี่ยมทองคำเจือ จำนวน 1 องค์ ราคาเริ่มต้น 2,564,000 บาท - พระกริ่งชินบัญชร ก้นทองแดงหลวงปู่ทิมเลี่ยมทองคำเจือ จำนวน 1 องค์ ราคาเริ่มต้น 907,000 บาท - พระซุ้มกอเลี่ยมทองน้ำเจือ จำนวน 1 องค์ ราคาเริ่มต้น 1,532,000 บาท ผู้ที่สนใจจะเข้าสู้ราคาการขายทอดตลาดทรัพย์สินในครั้งนี้ สามารถเข้าดูสภาพทรัพย์สินได้ในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 – 15.00 น. ณ สำนักงาน ปปง. สอบถามติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) หัวข้อ “ขายทอดตลาดทรัพย์สิน” 6. สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้เร่งรัดให้มีการผลักดันกฎหมายเพื่อพัฒนามาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 รวมทั้งเสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ รวมทั้งเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา นั้น ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน พ.ศ. .... และกฎกระทรวงการยื่นคำร้องขอดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ปปง. เสนอ และคณะรัฐมนตรีจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. และนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ร่วมชี้แจงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 ณ อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนน 416 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน จากผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 418 คน และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 31 คน เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตติดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่ดำเนินการให้บุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มี การกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (บุคคลที่ถูกกำหนด) หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ในค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของคู่สมรส บิดา มารดา และบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลที่ถูกกำหนดด้วย เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต กำหนดห้ามบุคคลช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด โดยการจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลที่ถูกกำหนด เพื่อตัดช่องทางการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนบุคคลที่ถูกกำหนดในการนำเงินหรือทรัพย์สินไปใช้ในการกระทำความผิด กำหนดให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ของบุคคลที่ถูกกำหนดสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อขอนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการมาชำระหนี้ของบุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหนี้ของบุคคลที่ถูกกำหนดในการได้รับชำระหนี้ และอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดที่จะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชาระหนี้ กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือการยึด อายัดหรือริบทรัพย์สิน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่สอบถามหรือเรียกผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพส่งเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารต่าง ๆ มาใช้ในการกำหนด และเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด โดยอาจร้องขอข้อมูลที่อยู่ในความครอบครอง หรือควบคุมดูแลของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐก็ได้ กำหนดเพิ่มเติมความผิดในฐานต่าง ๆ เช่น ฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ฝ่าฝืนให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด ฝ่าฝืนไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจง หรือไม่ส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐาน และแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้มีอัตราโทษที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้ ********** Top VISITOR 7 3 5 1 8 27833223 27833223 Visitors Counter --> Visitors Counter