สำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน 2,247 รายการ มูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,456 ล้านบาท

UPDATE 12 Jan 2024

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. และนายพีรธร วิมลโลหการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบและรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ประจำเดือน มกราคม 2567 ณ อาคารสัมมนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมืองทองธานี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

  1. การดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ปปง. ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพในการยึด/อายัดทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปราบปรามอาชญากรรมสำคัญ เช่น ยาเสพติด พนันออนไลน์ เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. รวมทั้งจัดมีให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เช่น คำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สินทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. เป็นต้น และยกระดับการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นไปตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว กระชับ มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและคุณธรรม เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยในรอบปี พ.ศ. 2566 มีการดำเนินการยึด/อายัดทรัพย์สินได้รวมมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท
  2. ผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้

    2.1 ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 19 รายคดี ทรัพย์สิน 844 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 995 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการลักลอบหนีศุลกากร โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้        

                         2.1.1 ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกง การยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว     รวมจำนวน 492 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 940 ล้านบาท

                                  - รายคดี นางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนันกรณีหลอกลวงผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีนโดยใช้เงินสกุลหยวน ใช้อุบายหลอกลวงให้ลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ด้วยการโพสต์ข้อความที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวน หรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้สืบสวนดำเนินคดีและพบว่า กลุ่มนางสาวธารารัตน์ฯ ถูกดำเนินคดีหรือถูกแจ้งให้อายัดบัญชีเงินฝากในคดีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือการฉ้อโกงประชาชนอีกหลายคดีในหลายท้องที่ เช่น ในจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท และมีทรัพย์สินส่วนที่ยังไม่ได้ประเมินราคา (ย.19/2567)    

                                  - รายคดี นางสาวสุพรรษาฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีการหลอกลวงให้ร่วมลงทุน ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเดลี่” โดยชักชวนให้ทำงานหารายได้เสริม จากนั้นจะติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ พูดคุย และมีการเชิญชวนให้ร่วมลงทุนเพื่อที่                     จะได้ผลตอบแทนสูง และใช้อุบายกำหนดเงื่อนไขต่างๆ หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินไว้ (ย.10/2566) และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย จำนวน 22 ราย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 45 รายการ มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 32 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 13 ล้านบาท (ย.5/2567)

                                  - รายคดี นางสาวนันทิดาฯ และนายเสรีฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีการหลอกขายเพชรออนไลน์ โดยโฆษณาชวนเชื่อให้ซื้อเครื่องเพชรจากร้าน หากครบกำหนดเวลาสามารถขายคืนได้และจะได้กำไรเพิ่มขึ้น และมีโปรโมชั่นพิเศษ                      ให้โอนเงินมาไว้ในกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ของทางร้าน เพื่อรับเงินเพิ่มจากทางร้าน แต่ต่อมาไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ ซึ่งมีผู้เสียหายมากกว่า 500 ราย โดยมีทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไว้และสำนักงาน ปปง. สืบสวนสอบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม               โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 218 รายการ (เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงานและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ มีทรัพย์สินส่วนที่ยัง                    ไม่ได้ประเมินราคากว่า 200 รายการ (ย.10/2567)

                             2.1.2 ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวรวมจำนวน 4 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท

                                                - รายคดี นางสาวฉิงฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ กรณีกลุ่มนายทุนจีนเข้ามากระทำความผิดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยลักลอบ ทำการถ่ายทอดสดแสดงการมีเพศสัมพันธ์และผลิตสื่อลามกเพื่อเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชันของประเทศจีน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากค่าเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 4 รายการ (ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท (ย. 14/2567)

2.2 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 16 รายคดี ทรัพย์สิน 443 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,143 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้

                         2.2.1 ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 25 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท

                                  - รายคดีนายอานันท์ฯ กับพวก กรณีกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก เป็นความผิด มูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร กรณีสืบสวนขยายผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินคดี                ในความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ (สุกร) โดยไม่ได้รับอนุญาตและนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 24 รายการ (ที่ดิน ยานพาหนะ และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 226/2566)

                                 - รายคดี MR.KARMA กับพวก กรณีเกี่ยวกับการลักลอบขนเงินเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1 รายการ (ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 224/2566)

                         2.2.2 ความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 266 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 882 ล้านบาท

                                  - รายคดี นายภูมิพัฒน์ฯ กับพวก (อั้ม PSV) ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (พนันออนไลน์เว็บไซต์ www.ufa24h.net) และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีทรัพย์สินส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดินตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.100/2566 ซึ่งดำเนินการกับทรัพย์สิน 56 รายการ มูลค่ากว่า 362 ล้านบาท ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพิ่มเติมอีก จำนวน 177 รายการ (เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องประดับ นาฬิกา สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ รถจักรยานยนต์) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 255 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 232/2566)  

                                  - รายคดี นายพงษ์ศิริฯ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน กรณีเว็บไซต์ www.go-sbobet.com และ www.ok-sbobet.com เป็นเว็บเล่นพนันออนไลน์ คาสิโน ทายผลฟุตบอล โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
จำนวน 89 รายการ (เช่น ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 627
ล้านบาท (คำสั่ง ย. 233 - 234/2566)

                         2.2.3 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 42 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 115 ล้านบาท

                                  - รายคดีนาย ทุน มิน หลัด กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกรณีกลุ่มนายทุนชาวพม่าได้รับสัปทานการขายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแม่สายไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยในช่วงเวลาที่กระทำความผิดมีการโอนเงินจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทย เพื่อชำระค่าไฟฟ้าตามสัญญาแทนกลุ่มนายทุนประเทศพม่า โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 24 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 220/2566)

                                  - รายคดี นายชาญชัยฯ หรือ โอ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับ ยาเสพติด อันสืบเนื่องจากการบูรณาการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่แนวชายแดนภาคเหนือ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพิ่มเติม
จำนวน
18 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก และสินทรัพย์ดิจิทัล) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ
88
ล้านบาท (คำสั่ง ย. 230/2566)

                         2.2.4 รายคดี นางเพ็ญศรีฯ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีชักชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมลงทุนธุรกิจทองคำ แปรสภาพจากทองคำแท่งเป็นทองคำรูปพรรณโดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง โดยมีทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง เพื่อขอให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย รวมมูลค่ากว่า 103 ล้านบาท ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.98/2564 (คำสั่ง ย.56/2564) ในการนี้ มีการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม 1 รายการ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1 รายการ (หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 219/2566) ซึ่งสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ ตามส่วนที่ไม่เกินจำนวนความเสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนหรือชดใช้คืนตามกฎหมายต่อไป

                        2.2.5 รายคดี นางสาวพลอยณิศาฯ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า กรณีการลักลอบนำงานภาพยนตร์ของบริษัทผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์ไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า มีการเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกและหากำไร ผ่านบริการดาวน์โหลดทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเว็บไชต์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 3 รายการ (ที่ดิน) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 229/2566) 

                   2.3 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 8 รายคดี ทรัพย์สิน 1,804 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 318 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้

                        2.3.1 รายคดี บริษัท มาร์เก็ตเทียร์ เซอร์วิส จำกัด กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีการชักชวนลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ โดยให้ผลตอบแทนสูง ทั้งนี้ มีการยึดอายัดทรัพย์สินไว้ 146 รายการ มูลค่าประมาณ                   8 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.184/2566 ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย

               2.3.2 รายคดี นายวุฒิมาฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งนายวุฒิมา หรืออดีตพระหมอ เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี ดำเนินการตามที่นายคมฯ หรืออดีตพระคมสั่งการให้นำเงินสดที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไปฝากเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัว และขนย้ายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องไปซุกซ่อนตามที่ต่างๆ ทั้งนี้ มีการยึดอายัดทรัพย์สินไว้ 1,512 รายการ มูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.173/2566 ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย (วัดป่าธรรมคีรี)

                   ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. ยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th)

                   อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย

VISITOR

  • 7
  • 3
  • 5
  • 1
  • 8
  • 2
  • 7
  • 7
  • 2
  • 9
  • 9
  • 1
  • 8
-->
  • Facebook
  • Twitter
  • instagram
  • Youtube
  • TikTok