ปปง. ไทย ร่วมมือ สปป. ลาว ยกระดับมาตรฐานป้องกันการฟอกเงิน

UPDATE 11 Sep 2024

ปปง. ไทย ร่วมมือ สปป. ลาว ยกระดับมาตรฐานป้องกันการฟอกเงิน

***********

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และคณะผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบการฟอกเงิน นำโดยรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พลตำรวจตรี เอกธนัช ลิ้มสังกาศ และนายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ได้ให้การต้อนรับนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และคณะผู้บริหารระดับสูงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  นำโดยท่านนางพอนเพ็ด  อุ่นแก้ว รองหัวหน้าองค์การอัยการประชาชนสูงสุด นายทองลี สีสุลิด  รองเลขาคณะบริหารงานศูนย์กลางซาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว นายพูโขง สีสุลาด หัวหน้ากรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และนางวินคำ ลุนทอน รักษาการหัวหน้าสำนักงานข้อมูลต้านการฟอกเงิน ธนาคารแห่ง สปป. ลาว ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย  (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT เพื่อเร่งปรับปรุงการดำเนินการของ สปป.ลาว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยเร็ว ซึ่งช่วยลดเสี่ยงความที่จะเข้าสู่บัญชีเทาของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force) หรือ FATF ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของ สปป.ลาว รวมทั้งอาจเกิดอุปสรรคในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้นเพราะสถาบันการเงินต่างประเทศจะเฝ้าระวังการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น

ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน AML/CFT ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติผ่านประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทย ในการพัฒนาการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เนื่องจากไทยมีการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเด็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การประเมินความเสี่ยงและการจัดทำยุทธศาสตร์ด้าน AML/CFT ระดับชาติ การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามความเสี่ยง  การดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคดีฟอกเงิน มาตรการลงโทษทางการเงินกับบุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร การเผยแพร่ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ให้ความร่วมมือและการสนับสนุน สปป.ลาว ในการยกระดับมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สปป.ลาว

สปป.ลาว กำลังเผชิญกับความท้าทายในการเข้าสู่บัญชีเทา ประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน  และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของ FATF ซึ่งความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ปปง. และ สปป.ลาว ในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการร่วมกันจัดการกับปัญหาการฟอกเงินซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของทั้งสองประเทศ รวมถึงช่วยให้สปป. ลาวสามารถแก้ไขปัญหาการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงการถูกจัดให้อยู่ในบัญชีเทา หรือสามารถกำหนดแผนงาน ที่ชัดเจนและครบถ้วนเพื่อออกจากบัญชีเทาได้โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและ สปป. ลาว รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้เงินทุนที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมายไหลเข้าประเทศ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน

***********

VISITOR

  • 7
  • 3
  • 5
  • 1
  • 8
  • 2
  • 7
  • 7
  • 6
  • 6
  • 4
  • 1
  • 0
-->
  • Facebook
  • Twitter
  • instagram
  • Youtube
  • TikTok