ENGLISH THAI ADVANCED SEARCH LoginFAQ งานตรวจสอบภายใน VISITOR 27716003 Visitors Counter หน้าแรก บริการข้อมูลสำหรับประชาชนข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน 2,247 รายการ มูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,456 ล้านบาท UPDATE 12 ม.ค. 2567 วันที่ 12 มกราคม 2567 นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. และนายพีรธร วิมลโลหการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบและรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ประจำเดือน มกราคม 2567 ณ อาคารสัมมนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมืองทองธานี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสรุปได้ ดังนี้ การดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ปปง. ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพในการยึด/อายัดทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปราบปรามอาชญากรรมสำคัญ เช่น ยาเสพติด พนันออนไลน์ เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. รวมทั้งจัดมีให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เช่น คำสั่งยึด/อายัดทรัพย์สินทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. เป็นต้น และยกระดับการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นไปตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้สำนักงาน ปปง. ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว กระชับ มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและคุณธรรม เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยในรอบปี พ.ศ. 2566 มีการดำเนินการยึด/อายัดทรัพย์สินได้รวมมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้ 2.1 ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 19 รายคดี ทรัพย์สิน 844 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 995 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการลักลอบหนีศุลกากร โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 2.1.1 ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกง การยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 492 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 940 ล้านบาท - รายคดี นางสาวธารารัตน์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนันกรณีหลอกลวงผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งต้องสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีนโดยใช้เงินสกุลหยวน ใช้อุบายหลอกลวงให้ลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ด้วยการโพสต์ข้อความที่มีลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวน หรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้สืบสวนดำเนินคดีและพบว่า กลุ่มนางสาวธารารัตน์ฯ ถูกดำเนินคดีหรือถูกแจ้งให้อายัดบัญชีเงินฝากในคดีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือการฉ้อโกงประชาชนอีกหลายคดีในหลายท้องที่ เช่น ในจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท และมีทรัพย์สินส่วนที่ยังไม่ได้ประเมินราคา (ย.19/2567) - รายคดี นางสาวสุพรรษาฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีการหลอกลวงให้ร่วมลงทุน ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเดลี่” โดยชักชวนให้ทำงานหารายได้เสริม จากนั้นจะติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ พูดคุย และมีการเชิญชวนให้ร่วมลงทุนเพื่อที่ จะได้ผลตอบแทนสูง และใช้อุบายกำหนดเงื่อนไขต่างๆ หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินเพิ่มเติม ทั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินไว้ (ย.10/2566) และส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย จำนวน 22 ราย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 45 รายการ มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 32 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 13 ล้านบาท (ย.5/2567) - รายคดี นางสาวนันทิดาฯ และนายเสรีฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีการหลอกขายเพชรออนไลน์ โดยโฆษณาชวนเชื่อให้ซื้อเครื่องเพชรจากร้าน หากครบกำหนดเวลาสามารถขายคืนได้และจะได้กำไรเพิ่มขึ้น และมีโปรโมชั่นพิเศษ ให้โอนเงินมาไว้ในกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ของทางร้าน เพื่อรับเงินเพิ่มจากทางร้าน แต่ต่อมาไม่สามารถเบิกถอนเงินได้ ซึ่งมีผู้เสียหายมากกว่า 500 ราย โดยมีทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไว้และสำนักงาน ปปง. สืบสวนสอบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 218 รายการ (เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์สำนักงานและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ มีทรัพย์สินส่วนที่ยัง ไม่ได้ประเมินราคากว่า 200 รายการ (ย.10/2567) 2.1.2 ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวรวมจำนวน 4 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท - รายคดี นางสาวฉิงฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ กรณีกลุ่มนายทุนจีนเข้ามากระทำความผิดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยลักลอบ ทำการถ่ายทอดสดแสดงการมีเพศสัมพันธ์และผลิตสื่อลามกเพื่อเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชันของประเทศจีน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากค่าเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 4 รายการ (ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท (ย. 14/2567) 2.2 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 16 รายคดี ทรัพย์สิน 443 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,143 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 2.2.1 ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 25 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท - รายคดีนายอานันท์ฯ กับพวก กรณีกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก เป็นความผิด มูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร กรณีสืบสวนขยายผลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินคดี ในความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ (สุกร) โดยไม่ได้รับอนุญาตและนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 24 รายการ (ที่ดิน ยานพาหนะ และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 226/2566) - รายคดี MR.KARMAฯ กับพวก กรณีเกี่ยวกับการลักลอบขนเงินเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีศุลกากร อันเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1 รายการ (ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 224/2566) 2.2.2 ความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 266 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 882 ล้านบาท - รายคดี นายภูมิพัฒน์ฯ กับพวก (อั้ม PSV) ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (พนันออนไลน์เว็บไซต์ www.ufa24h.net) และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีทรัพย์สินส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดินตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.100/2566 ซึ่งดำเนินการกับทรัพย์สิน 56 รายการ มูลค่ากว่า 362 ล้านบาท ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพิ่มเติมอีก จำนวน 177 รายการ (เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องประดับ นาฬิกา สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ รถจักรยานยนต์) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 255 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 232/2566) - รายคดี นายพงษ์ศิริฯ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน กรณีเว็บไซต์ www.go-sbobet.com และ www.ok-sbobet.com เป็นเว็บเล่นพนันออนไลน์ คาสิโน ทายผลฟุตบอล โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 89 รายการ (เช่น ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 627 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 233 - 234/2566) 2.2.3 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 42 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 115 ล้านบาท - รายคดีนาย ทุน มิน หลัด กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกรณีกลุ่มนายทุนชาวพม่าได้รับสัปทานการขายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแม่สายไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยในช่วงเวลาที่กระทำความผิดมีการโอนเงินจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทย เพื่อชำระค่าไฟฟ้าตามสัญญาแทนกลุ่มนายทุนประเทศพม่า โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 24 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 220/2566) - รายคดี นายชาญชัยฯ หรือ โอ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับ ยาเสพติด อันสืบเนื่องจากการบูรณาการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่แนวชายแดนภาคเหนือ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพิ่มเติม จำนวน 18 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก และสินทรัพย์ดิจิทัล) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 230/2566) 2.2.4 รายคดี นางเพ็ญศรีฯ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีชักชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมลงทุนธุรกิจทองคำ แปรสภาพจากทองคำแท่งเป็นทองคำรูปพรรณโดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง โดยมีทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง เพื่อขอให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย รวมมูลค่ากว่า 103 ล้านบาท ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.98/2564 (คำสั่ง ย.56/2564) ในการนี้ มีการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม 1 รายการ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1 รายการ (หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 219/2566) ซึ่งสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ ตามส่วนที่ไม่เกินจำนวนความเสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนหรือชดใช้คืนตามกฎหมายต่อไป 2.2.5 รายคดี นางสาวพลอยณิศาฯ กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า กรณีการลักลอบนำงานภาพยนตร์ของบริษัทผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในลิขสิทธิ์งานภาพยนตร์ไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า มีการเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกและหากำไร ผ่านบริการดาวน์โหลดทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเว็บไชต์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 3 รายการ (ที่ดิน) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 229/2566) 2.3 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 8 รายคดี ทรัพย์สิน 1,804 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 318 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 2.3.1 รายคดี บริษัท มาร์เก็ตเทียร์ เซอร์วิส จำกัด กับพวก เป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีการชักชวนลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ โดยให้ผลตอบแทนสูง ทั้งนี้ มีการยึดอายัดทรัพย์สินไว้ 146 รายการ มูลค่าประมาณ 8 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.184/2566 ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย 2.3.2 รายคดี นายวุฒิมาฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งนายวุฒิมา หรืออดีตพระหมอ เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี ดำเนินการตามที่นายคมฯ หรืออดีตพระคมสั่งการให้นำเงินสดที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไปฝากเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัว และขนย้ายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องไปซุกซ่อนตามที่ต่างๆ ทั้งนี้ มีการยึดอายัดทรัพย์สินไว้ 1,512 รายการ มูลค่าประมาณ 301 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.173/2566 ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย (วัดป่าธรรมคีรี) ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย Top VISITOR 7 3 5 1 8 27716003 27716003 Visitors Counter --> Visitors Counter