Insite bigbanner

เลขาธิการ ปปง. คำกล่าวประกอบการแถลงข่าวผลการดำเนินการรอบ 6 เดือน

UPDATE 24 เม.ย. 2567

เลขาธิการ ปปง. คำกล่าวประกอบการแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน เมษายน 2567 และผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน

********************************************

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง.  พร้อมด้วยคณะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ได้แก่ นายพีรธร วิมลโลหการ ผู้อำนวยการกองกำกับและตรวจสอบ นางสาวสุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน และนายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน เมษายน 2567 และผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน ต่อสื่อมวลชน ณ บริเวณโถงหน้าห้องประชุม 101 ชั้น 1 สำนักงาน ปปง.

 

นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า การแถลงข่าวในวันนี้เป็นการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน เมษายน 2567 และผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการกระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนจำนวนมาก โดยกำชับให้หน่วยงาน ทุกภาคส่วนร่วมกันทำหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งซึ่งในปีงบประมาณ 2567 รอบ 6 เดือน สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานกว่า 12,000 ล้านบาท และตัดวงจรธุรกรรมบัญชีม้าเกือบ 400,000 บัญชี โดยสรุปได้ดังนี้

1. ผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567                                

คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สิน 655 รายการ จำนวน 47 คดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,364 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 25 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การลักลอบหนีศุลกากร และพนันออนไลน์

2. สรุปผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน

ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมกว่า 12,160 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้

            (1) ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 130 คำสั่ง จำนวน 121 คดี ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องให้ตกเป็นของแผ่นดินรวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 6,713 ล้านบาท

            (2) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานจำนวน 39 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,447 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกงประชาชน

3. ดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าอย่างเข้มข้น โดยสามารถตัดวงจรธุรกรรมบัญชีม้าได้เกือบ 400,000 บัญชี

สำนักงาน ปปง. เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันการแก้ไขอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้าร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการจัดทำกฎหมายเพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่อายัดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้า กำหนดให้การรับจ้างเปิดบัญชีม้าเป็นความผิดอาญา และการจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมของเจ้าของบัญชีม้า รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441 เพื่อให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัย online สำหรับประชาชน ในภาพรวมสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการประกาศรายชื่อบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าแล้วรวมกว่า 33,000 ราย จำกัดช่องทางไม่ให้สามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 320,000 บัญชี และมีมูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 924 ล้านบาท และในปี 2567สำนักงาน ปปง. ได้กำหนดเป้าหมายให้การจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีม้าให้ได้ถึง 1,000,000 บัญชี  

ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. ขอแจ้งเตือนประชาชนว่า การรับจ้างเปิดบัญชีม้ามีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อาจถูกดำเนินคดีในฐานะตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ถูกตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและถูกยึดทรัพย์ ถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงิน และถูกดำเนินคดีหลายท้องที่ตามพื้นที่ที่ผู้ร้ายนำบัญชีไปใช้ ซึ่งจะส่งผลให้ท่านมีประวัติอาชญากรรมติดตัว ส่งผลต่อการไปสมัครงานหรือสมัครเรียนด้วย

นอกจากการปราบปรามบัญชีม้า ในส่วนของการป้องการไม่ให้มีบัญชีม้า สำนักงาน ปปง. ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการเปิดบัญชีม้า โดยสร้างเงื่อนไขในการเปิดบัญชีให้ยากขึ้นเหมาะสมกับการประกอบอาชีพเพื่อให้ลูกค้ามีบัญชีเท่าที่จำเป็น อันเป็นการยกระดับมาตรการรู้จักลูกค้า (KYC) ให้เข้มขึ้น รวมทั้งการกำกับให้สถาบันการเงินต้องพิจารณาระงับธุรกรรมกรณีตรวจพบธุรกรรมต้องสงสัยตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ทันที และให้รายงานสำนักงาน ปปง. หากสถาบันการเงินแห่งใดปล่อยปละละเลยต่อมาตรการดังกล่าว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาดำเนินคดีกับสถาบันการเงินดังกล่าวตามกลไกของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัดต่อไป

4. การติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในต่างประเทศและการประสาน ความร่วมมือด้านคดีกับต่างประเทศ เช่น การติดตามทรัพย์สินเกี่ยวกับมูลฐานยาเสพติดเครือข่ายเหว่ยเซี๊ยะกังคืนจากสหพันธรัฐสวิส ซึ่งนับเป็นคดีแรกของประเทศไทยที่ได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนจากต่างประเทศ (Asset Recovery) โดยใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและดำเนินการให้ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศตกเป็นของแผ่นดินโดยใช้ช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา โดยฝ่ายสมาพันธรัฐสวิสจะโอนเงินของผู้กระทำความผิดที่ตรวจพบคืนให้ประเทศไทยประมาณ 1,883,332.68 ฟรังสวิส หรือประมาณ 76 ล้านบาท คืนมายังประเทศไทยภายในเดือนเมษายน 2567 รวมถึง การดำเนินการกับกรณีอดีตผู้บริหารธนาคารธนาคารพาณิชย์บังกลาเทศฟอกเงินในประเทศไทย และการยึดอายัดทรัพย์กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดภายใต้ยุทธการ SHELL GAME ซึ่งสามารถยึดอายัดทรัพย์สินไว้ได้รวมทั้มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านบาท

5. การยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่อสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของ สำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องแล้ว ผู้เสียหายจะต้องดูว่าพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิดรวมถึงเลขที่คดีอาญาที่ระบุไว้ในประกาศฯ ตรงกับข้อเท็จจริงในความผิดที่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องพร้อมเอกสารแนบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศฯ ทางช่องทางที่สำนักงาน ปปง. กำหนด หากยื่นเกินกำหนดเวลา 90 วัน ดังกล่าว ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายนี้

VISITOR

  • 7
  • 3
  • 5
  • 1
  • 8
  • 2
  • 5
  • 7
  • 6
  • 6
  • 3
  • 3
  • 2
-->
  • Facebook
  • Twitter
  • instagram
  • Youtube
  • TikTok