Insite bigbanner

ปปง. แถลงข่าวรายคดีสำคัญประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

UPDATE 15 ก.พ. 2567

เลขาธิการ ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สินมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,729 ล้านบาท
ย้ำชัด! ยกระดับเข้มข้นทั้งป้องกันและปราบปรามตามกฎหมายเพื่อประชาชน

………………………………………………………………

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พร้อมด้วย นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และนายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงาน ปปง. แถลงข่าวสรุปผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท รวมถึงเน้นย้ำการดำเนินมาตรการทั้งป้องกันและปราบปรามเข้มข้นเพื่อดำเนินการกับผู้การะทำความผิดและคุ้มครองประชาชน โดยสรุปด

1. มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมฯ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้

1.1 ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 26 รายคดี ทรัพย์สิน 228 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,635 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติดฉ้อโกงประชาชนหรือการยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการลักลอบหนีศุลกากร โดยมีรายคดีสำคัญ ดังนี้

1.1.1 ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกง การยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 24 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 2,547 ล้านบาท

         - รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งมีนายชนินทร์ฯ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัทเพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง  ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน กรณีดังกล่าวสำนักงาน ปปง. เคยดำเนินการอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 16 รายการ มูลค่าประมาณ 354 ล้านบาท (คำสั่ง ย.222/2566) โดยในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 34 รายการ (ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 2,541 ล้านบาท (คำสั่ง . 32/25

กรณีดังกล่าวสำนักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคําร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายภายในเก้าสิบวัน (ครบกำหนดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567) ขณะนี้สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายต่อไป

         - รายคดี นายวุฒิพงษ์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน กรณีการส่งข้อความทางโทรศัพท์หลอกลวงว่าได้รับรางวัล พร้อมแนบลิงก์ให้ผู้เสียหายเข้าไปกรอกข้อมูล และโทรศัพท์หลอกลวงให้ทำตามขั้นตอน ทำให้เงินในบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกโอนไปยังบัญชีของกลุ่มผู้กระทำความผิด ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 8 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท (คำสั่ง ย.45/ 2567)

1.1.2 ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รายคดี นางลีน่าฯ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดโดยจัดการแสดงการร่วมเพศในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วถ่ายทอดสดไปยังบุคคลที่ดูอยู่ในประเทศจีน ผ่านทางแอปพลิเคชั่น ชื่อ VK โดยคิดค่าใช้จ่ายจากสมาชิกที่เข้าชม  และได้ค่าตอบแทนจากผู้ชมในประเทศจีน ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 6 รายการ (รถยนต์ ที่ดิน และเงินใน               บัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท (คำสั่ง ย.44/ 2567) 

1.1.3 ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับการปลอมเครื่องหมายการค้า รายคดี นายพีระพงษ์ฯ กับพวก กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจค้นร้านค้าในศูนย์การค้าบ้านหม้อพลาซ่า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบวิทยุสื่อสารและอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องวิทยุสื่อสาร ปลอมเครื่องหมายการค้ากว่า 5,000 รายการ
ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาลงโทษในความผิดเกี่ยวกับการปลอมเครื่องหมายการค้า และความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 9 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝากและสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย) มูลค่าประมาณ 26 ล้านบาท (คำสั่ง ย.23/ 2567)

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) ในหัวข้อการตรวจสอบข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สิน

1.2 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 19 รายคดี ทรัพย์สิน 717 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,090 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการยาเสพติด  ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การลักลอบหนีศุลกากร และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายคดีสำคัญ ดังนี้

1.2.1 รายคดี นายประสิทธิ์ฯ หรือชาญชัยฯ หรือเหว่ย เซี๊ยะกัง กับพวก  ซึ่งมีพฤติการณ์เกี่ยวกับการผลิตและลักลอบจำหน่ายยาเสพติด และนำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปประกอบธุรกิจบังหน้าด้วยการเปิดธุรกิจจำหน่ายเพชรพลอย และกิจการประเภทต่าง ๆโดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 25 รายการ (เช่น เงินสด พระเครื่องและวัตถุมงคล) มูลค่าประมาณ 2 แสนบาท (คำสั่ง ย.244/2566)

1.2.2 รายคดี กลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และนายอานันท์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร กรณีสืบสวนขยายผลจากการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ (สุกร) โดยไม่ได้รับอนุญาต และนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว จำนวน 24 รายการ มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ (ที่ดิน รถยนต์ และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 43 ล้านบาท (คำสั่ง ย.248/2566)

1.2.3 รายคดี นายปริญญ์ฯ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการจัดให้มี การเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดฐานฟอกเงิน กรณีสืบเนื่องจากเว็บพนันออนไลน์ https://www.superslotjet.com/ เว็บไซต์ https://jokerwallet.game / และเว็บไซต์ https://superwallet.game/ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ไว้แล้วรวมกว่า 500 รายการตามคำสั่ง ย.70/2566 ลงวันที่14 มีนาคม 2566 และคำสั่งที่ ย.132/2566 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2566  ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบข้อมูลพบการโอน รับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 335 รายการ (เช่น รถยนต์ พระเครื่อง นาฬิกา สินค้าแบรนด์แนม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตุ๊กตา BEARBRICK) มูลค่าประมาณ 138 ล้านบาท (คำสั่ง ย.247/2566)

1.2.4 รายคดี นายฉี ซู (MR.QU XI หรือ MR.XU QI) กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานฟอกเงิน กรณีกลุ่มจีนเทาร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนและโอนเงินไปลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านแอปพลิเคชั่นปลอมชื่อ “Cboe Global Markets” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีและตรวจค้นหลายเป้าหมาย พบทรัพย์สินของเครือข่ายขบวนการกระทำความผิดจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของนางสาวจักรีณา ชูขาวศรี (กีกี้ แม็กซิม) นอกจากนี้สำนักงาน ปปง. สืบสวนสอบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 133 รายการ (เช่น เงินสด ทองรูปพรรณ สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ ที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 596 ล้านบาท (คำสั่ง ย.240/2566)

1.2.5 รายคดี บริษัท วัน บ็อกซ์ โฮม จำกัด กับพวก พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาและการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาร่วมผลิตและกระจายสินค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเบียดบังกล่องสัญญาณดิจิตอลและอุปกรณ์ซึ่งเหลือจากการที่ประชาชนนำคูปองไปแลกและนำเข้าระบบของสำนักงาน กสทช. โดยไม่คืนกล่องสัญญาณดิจิตอลทีวีและอุปกรณ์ แต่กลับนำไปขาย               ทางอินเทอร์เน็ต โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 23 รายการ (เช่น ที่ดิน กองทุน และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 186 ล้านบาท (คำสั่ง ย.252/2566)

ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหาย เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th)

อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ  คำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย

2. พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.)

สำนักงาน ปปง. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการออก พ.ร.ก. และถือเป็นหน่วยงานหลัก    ที่ขับเคลื่อนภารกิจตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยเลขาธิการ ปปง. ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ พ.ร.ก. ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และยังดําเนินการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบ One Stop Service สําหรับประชาชน ในการติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์อย่างบูรณาการและทันเวลา รวมถึงให้คําปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์สําหรับประชาชน โดยก่อนที่ พ.ร.ก. จะมีผลบังคับใช้นั้น สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการมาตรการเชิงป้องกันนำร่องไปก่อน โดยออกประกาศสํานักงาน ปปง. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2565 โดยพิจารณากําหนดรายชื่อบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐาน และนําฐานข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินและรายชื่อบุคคลที่ถูกกําหนด (AMLO Person Screening System: APS) เพื่อให้ธนาคารสามารถดําเนินมาตรการในเชิงป้องกันและปราบปรามด้านการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูงได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการในการจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลตามรายชื่อดังกล่าว อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ร้ายทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ ปัจจุบันผลการดําเนินการพิจารณากําหนดรายชื่อบุคคล กรณีบัญชีม้า ดังนี้  รหัส HR-03-1 จํานวน 5,583 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 52,059 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 198,130,551.03 บาท และรหัส HR-03-2 จํานวน 24,640 รายชื่อ จํานวนบัญชีที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 233,289 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 625,364,530.86 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567) นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีมติให้พิจารณากำหนด “รายชื่อเจ้าของบัญชีที่ถูกแจ้งเหตุว่า ได้มีการใช้บัญชี หรืออาจถูกใช้บัญชี หรือมีพฤติกรรมในการใช้บัญชี หรือทำธุรกรรมที่เข้าข่ายหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามประกาศสำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการกับบัญชีม้าแถว 1 แล้ว จากนั้นธนาคารเจ้าของบัญชีของผู้เสียหายมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีม้าแถว 1 ที่ผู้เสียหายโอนเงินไปและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด ส่งให้ศูนย์ AOC 1441 โดยเร็ว เพื่อแจ้งให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตามประกาศสำนักงาน ปปง. ต่อไป

อนึ่ง สำหรับผู้เปิดบัญชีม้าจะมีความผิดตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับสูงสุด 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีม้า จะมีความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก. มาตรการฯ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งอาจจะมีความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย และในกรณีที่สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบการกระทำความผิดดังกล่าว จะดำเนินการกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปอีกด้วย

นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. จะยกระดับการบังคับใช้มาตรการด้านการป้องกันตาม พ.ร.ก. อย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยจะใช้มาตรการที่เข้มงวดตามกรอบของกฎหมายในการกำกับดูแลผู้หน้าที่รายงานธุรกรรมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีมาตรการบังคับโทษอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบว่าปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดบัญชีและใช้บัญชีม้าโดยขาดมาตรการที่รัดกุม โดยในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวพบเหตุสงสัยว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน นอกจากต้องระงับการทำธุรกรรมตามมาตรา 6 ของ พ.ร.ก. แล้ว ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยมายัง สำนักงาน ปปง. ด้วย เพื่อสำนักงาน ปปง. จะได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินและติดตามเงินไปคืนให้ผู้เสียหายต่อไป

3. การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด

3.1 การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน

สำนักงาน ปปง. ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรา 49 วรรคหก (แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2558) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดบทบัญญัติมาตรา 49/1 เพื่อให้สำนักงาน ปปง. สามารถดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายได้ทุกประเภทความเสียหาย รวมถึงกำหนดให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานให้เกิดความชัดเจนต่อไปด้วยโดยกฎกระทรวงดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานตามกฎหมายอังกล่าวใน 2 ประการที่สำคัญ ดังนี้ 1) มาตรา 49 วรรคหก กำหนดให้คุ้มครองสิทธิได้เฉพาะความเสียหายต่อทรัพย์สินเท่านั้น สำนักงาน ปปง. จึงไม่สามารถดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ 2) มาตรา 49 วรรคหก ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมถึงกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ในการพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริง กำหนดค่าเสียหาย และเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินเพื่อนำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ผลจากการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิที่ตนได้รับความเสียหาย อันเป็นผลจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ ซึ่งปัจจุบันมีคดีสำคัญๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหลายคดี เช่น คดีหุ้น More คดีหุ้น STARK เป็นต้น  

3.2 การคุ้มครองสิทธิผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด    

มาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กำหนดให้สิทธิผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือผู้รับจำนองทรัพย์สินโดยสุจริต สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวมาคุ้มครองสิทธิของตนได้ก่อนที่จะริบให้ตกเป็นของแผ่นดินแต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในลักษณะอื่นให้สามารถร้องขอให้คุ้มครองสิทธิได้ เช่น กรณีผู้ทำสัญญาจะซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยสุจริตและได้ชำระเงินมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้ว ฯลฯ ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด  ทำให้ผู้สุจริตดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2565 จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินสามารถร้องขอต่อศาลให้คุ้มครองสิทธิของตนได้

สำหรับกรณีของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทหรือผู้ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดฯ แม้จะเป็น กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบก่อนการแก้ไขกฎหมายในปี พ.ศ. 2565 แต่สำนักงาน ปปง. มีแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบไว้แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องไปประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทที่อาจตกหล่นบางรายและผู้ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารคอนโดฯ ทั้งหมด ก่อนจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ที่มีส่วนได้เสียตามขั้นตอนต่อไป

 ********************************

 

VISITOR

  • 7
  • 3
  • 5
  • 1
  • 8
  • 2
  • 5
  • 7
  • 7
  • 2
  • 3
  • 0
  • 2
-->
  • Facebook
  • Twitter
  • instagram
  • Youtube
  • TikTok